หาดนวล อยู่ด้านทิศใต้ของเกาะล้าน บริเวณนี้ห่างจากชายหาดไม่ไกลจะมีแนวปะการัง และมีภัตตาคารเก่าซึ่งปัจจุบันได้พังจมลงในทะเล ทำให้เศษซากปูนซึ่งเคยเป็นสิ่งก่อสร้าง ได้กลายเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำใต้ทะเล สัตว์ทะเลที่อาศัยอยู่บริเวณนี้ประกอบด้วย ปะการังโขด ปะการังเขากวาง ปะการังสมอง ฟองน้ำครก กัลปังหา ดอกไม้ทะเล ปลาการ์ตูนอินเดียแดง ม้าน้ำ เป็นต้น
ระดับความลึก 10 - 13 เมตร
แหลมทอง ( Manta Point ) ตั้งอยู่ระหว่างหาดแสมกับหาดเทียน ด้านทิศตะวันตกของเกาะล้าน ตลอดแนวใต้น้ำบริเวณนี้ จะมีแนวหินและแนวปะการัง สัตว์ทะเลที่อาศัยอยู่นอกจากปะการังแข็งชนิดต่างๆแล้ว ยังมีปะการังอ่อนหลายหลากสี ปะการังดำ ปะการังแส้ทะเล กัลปังหา หวีทะเล เต่าทะเล ฝูงปลาทะเลน้อยใหญ่ และสัตว์ทะเลชนิดอื่นๆอีกมากมาย
ระดับความลึก 15 - 20 เมตร
สะพานท่าเทียบเรือหาดตาแหวน เกาะล้าน เนื่องจากบริเวณนี้เป็นท่าเทียบเรือ จึงมีเสาปูนหรือตอหม้อของท่าเรือปักลงไปใต้น้ำหลายสิบต้น ทำให้มีสัตว์ทะเลหลายหลากชนิด เข้ามาจับจองเป็นที่อยู่อาศัย หรือหลบภัยบริเวณเสาตอหม้อใต้ท่าเรือ นักดำน้ำจึงนิยมพากันมาดำน้ำลงไปดู สัตว์ทะเลที่อาศัยอยู่บริเวณนี้ส่วนมากประกอบด้วย กัลปังหา ปะการังแส้ทะเล ฟองน้ำ ดอกไม้ทะเล ฝูงปลาสาก ฝูงปลาสีขน ปลาสลิดหิน ปลาผีเสื้อปากยาว ปลาผีเสื้อแปดขีด ปลากะรัง ปลาจิ้มฟันจระเข้ ปลาการ์ตูนอินเดียแดง
ระดับความลึก 9 - 12 เมตร
เกาะสาก บริเวณอ่าวซึ่งมีชายหาดด้านทิศเหนือของเกาะสาก เป็นที่นิยมของเรือพานักดำน้ำมาจอดลอยลำหลบคลื่นลม ทั้งยังเป็นแหล่งที่เหมาะสำหรับให้นักเรียนดำน้ำ ได้ฝึกทักษะ หรือสอบภาคสนามของการดำน้ำในทะเล ใต้น้ำบริเวณนี้จะเป็นพื้นทรายเรียบ มีกองปะการังเทียมทำมาจากยางเก่ารถยนต์ ส่วนหัวแหลมด้านทิศเหนือของเกาะสาก ตลอดแนวอ้อมไปทางด้านทิศตะวันออก จะเป็นแนวหินและแนวปะการัง สัตว์ทะเลที่อาศัยบริเวณใต้น้ำของเกาะสาก เช่น ปะการังโขด ปะการังแส้ทะเล ฟองน้ำ ดอกไม้ทะเล ปลาการ์ตูนอินเดียแดง ปลาการ์ตูนอานม้า ปลาจิ้มฟันจระเข้ ปลาผีเสื้อกลางคืน ปลาสลิดหิน ม้าน้ำ หอยสังข์จุกพราหมณ์ หมึกกระดอง
ระดับความลึก 10 - 15 เมตร
เกาะครก นักดำน้ำจะลงดำน้ำที่ด้านทิศตะวันตกของเกาะ มีแนวหินและแนวปะการัง ยาวตลอดตั้งแต่ทิศเหนือ ไปจนสิ้นสุดความยาวของเกาะที่ด้านทิศใต้ ในช่วงเวลาที่มีการขึ้นลงไหลแรงของกระแสน้ำทะเล เรือจะพานักดำน้ำมาปล่อยลงดำน้ำบริเวณนี้ โดยให้ดำน้ำไปตามทิศทางการพัดพาของกระแสน้ำ เรือจะไปดักรอให้นักดำน้ำขึ้นเรือ เมื่อเสร็จสิ้นของการดำน้ำในไดฟ์นั้นๆ สัตว์ทะเลที่อาศัยบริเวณเกาะครก เช่น ปะการังแข็งชนิดต่างๆ แส้ทะเล ฟองน้ำครก ฟองน้ำแจกันสีน้ำเงิน ดอกไม้ทะเล ทากเปลือย ฝูงปลาทะเลน้อยใหญ่หลายหลากชนิด
ระดับความลึก 12 - 15 เมตร
เกาะกลึงบาดาล มีชายหาดเล็กๆด้านทิศตะวันออกของเกาะ ใต้น้ำบริเวณด้านหน้าชายหาดจะเป็นพื้นทรายเรียบ จึงเหมาะที่นักเรียนดำน้ำจะมาฝึกทักษะ หรือสอบภาคสนามของการดำน้ำในทะเล แต่เนื่องจากเกาะกลึงบาดาลตั้งอยู่ห่างไกลจากชายฝั่งมาก ทำให้มีนักเรียนดำน้ำมาฝึกทักษะการดำน้ำที่นี้ไม่มาก เกาะกลึงบาดาลนอกจากพื้นที่ใต้น้ำ ด้านหน้าชายหาดเป็นพื้นทรายเรียบแล้ว ในส่วนอื่นๆรอบเกาะจะเป็นแนวหินและแนวประการัง มีสัตว์ทะเลอยู่ศัยอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น ปะการังโขด ปะการังสมอง ปะการังโต๊ะ ปะการังแส้ทะเล ปะการังดำ ฟองน้ำ ดอกไม้ทะเล หมึกกระดอง หอยมือเสือ ฝูงปลาสีขน ปลาสาก เป็นต้น
ระดับความลึก 15 - 18 เมตร
เกาะมารวิชัย เป็นหนึ่งในหมู่เกาะไผ่ ตั้งอยู่ไม่ไกลจากเกาะกลึงบาดาล เกาะมารวิชัยมีชายหาดทั้งสองด้านของเกาะ ทั้งทางด้านทิศตะวันออกและด้านทิศตะวันตก เกาะมารวิชัยเป็นเกาะที่เงียบสงบ นักท่องเที่ยวน้อยคนมากจะเดินทางมาท่องเที่ยว แต่สำหรับนักดำน้ำสคูบ้า ถ้าเคยผ่านการดำน้ำในพื้นที่ทะเลพัทยา ก็ไม่ควรพลาดโอกาสที่จะเดินทางมาเยือน ใต้พื้นน้ำของเกาะแห่งนี้ และเนื่องจากเกาะมารวิชัยตั้งอยู่ห่างไกลจากชายฝั่ง น้ำทะเลจึงใสสะอาด ใต้ทะเลยังอุดมสมบูรณ์ไปด้วยสัตว์ทะเลน้อยใหญ่ เช่น ปะการังแข็ง ปะการังอ่อน ปะการังแส้ทะเล ปะการังดำ ฟองน้ำครก ฝูงปลาสีขน ฝูงปลาข้างเหลือง ปลากะรัง ปลาสาก ปลาการ์ตูนอินเดียแดง ปลาการ์ตูนอานม้า ปูซีโน กุ้งตัวยาว หมึกกระดอง
ระดับความลึก 15 - 22 เมตร
เกาะหูช้าง เป็นเกาะหินเล็กๆตั้งอยู่ทางด้านทิศใต้ของเกาะไผ่ เกาะหูช้างเป็นที่นิยมของนักดำน้ำ ที่จะพากันมาลงดำน้ำที่นี่เช่นกัน ด้านทิศตะวันตกของเกาะมีแนวปะการัง ทั้งยังมีแนวหินใต้น้ำ พาดตัวทอดยาวไปทางด้านทิศใต้ จนเกือบจะใกล้ๆถึงเกาะกลึงบาดาล แนวหินใต้น้ำของเกาะหูช้างแห่งนี้ จะอุดมสมบูรณ์ด้วยปะการังต่างๆหลากชนิด ทั้งปะการังแข็ง ปะการังอ่อน และฝูงปลาทะเล แหล่งดำน้ำของเกาะหูช้าง นักดำน้ำจึงไม่ควรพลาดที่จะบรรจุไว้เป็นหนึ่ง ในโปรแกรมการออกทริปดำน้ำของพัทยา
ระดับความลึก 13 - 22 เมตร
เกาะไผ่ เป็นเกาะขนาดใหญ่ในพื้นที่ทะเลพัทยา และมีพื้นที่ใหญ่ที่สุดในบรรดาของหมู่เกาะไผ่ ซึ่งจะประกอบด้วย เกาะเหลื่อม เกาะหูช้าง เกาะกลึงบาดาล เกาะมารวิชัย และเกาะไผ่ เกาะเหล่านี้จะตั้งอยู่ใกล้กัน โดยทอดตัวยาวเรียงรายเป็นหมู่เกาะ เกาะไผ่อยู่ในการดูแลของกองทัพเรือ เป็นพื้นที่เขตหวงห้ามบุคคลทั่วไปขึ้นบนตัวเกาะ แต่ทางทหารเรือก็ยังคงอนุญาต ให้พื้นที่ชายหาดของเกาะไผ่บางส่วน เข้าไปท่องเที่ยวได้ โดยมีเงื่อนไขจะต้องรักษากฎระเบียบอย่างเคร่งคัด
แหล่งดำน้ำบริเวณเกาะไผ่ นักดำน้ำนิยมลงดำน้ำที่บริเวณด้านหน้าชายหาด ซึ่งอยู่ใกล้กับแหล่งเรือจมหลวงคราม หรือในกรณีที่เรือของนักดำน้ำ แล่นเข้าไปจอดลอยลำหลบคลื่นลม ครูผู้ฝึกสอนก็จะให้นักเรียนดำน้ำลงไปฝึกทักษะ ที่ระดับความลึกของน้ำไม่มาก บริเวณนี้จะมีแนวหินและปะการัง ทั้งยังมีหอยมือเสือเป็นจำนวนมาก จากการนำมาปล่อยในทะเลของนักดำน้ำอนุรักษ์กลุ่มหนึ่ง เมื่อหลายปีก่อน
ระดับความลึก 10 - 15 เมตร
เกาะริ้น ถ้าเอ่ยถึงแหล่งดำน้ำในพื้นที่ทะเลพัทยา เกาะริ้นเกือบจะเรียกได้ว่า เป็นที่นิยมชมชอบของนักดำน้ำที่สุดก็ว่าได้ เกาะริ้นตั้งอยู่ห่างไกลจากชายฝั่งเมืองพัทยา ประมาณ 21 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณสองชั่วโมง เกาะริ้นมีชายหาดสวยงาม ด้านทิศตะวันออกของเกาะ พื้นที่ด้านหน้าชายหาดเป็นอ่าวเว้าโค้ง เหมาะที่จะนำเรือไปจอดลอยลำหลบคลื่นลม และมีระดับความลึกของน้ำทะเลไม่มาก ใต้น้ำเป็นพื้นทรายเรียบ เหมาะที่จะให้นักเรียนดำน้ำลงดำฝึกทักษะ หรือสอบภาคสนามในทะเล จึงเป็นที่นิยมของครูผู้สอนดำน้ำ เมื่อได้มาที่เกาะริ้น จะต้องพานักเรียนมาลงดำน้ำที่นี่เสมอๆ
แหล่งดำน้ำของเกาะริ้น จะเริ่มตั้งแต่ด้านหน้าชายหาดซึ่งระดับน้ำไม่ลึกมาก และมีปะการังบ้างเป็นบางส่วน แต่เมื่อเริ่มดำน้ำไปทางด้านแนวหินหัวแหลม ด้านทิศใต้ของเกาะริ้น ระดับน้ำจะลึกและมีแนวปะการังหนาแน่นมากขึ้น ใต้น้ำเกาะริ้นบริเวณนี้ มีความสมบูรณ์ของสัตว์ทะเลหลากชนิด เช่น ปะการังโขด ปะการังเขากวาง ปะการังโต๊ะ ปะการังดอกเห็ด ปะการังดำ ปะการังแส้ทะเล ปะการังอ่อนหลากสีชนิดต่างๆ กัลปังหา ฟองน้ำครก ฟองน้ำแจกันสีน้ำเงิน ทากเปลือย ปูซีโน กุ้งตัวยาว ปลาสลิดหิน ฝูงปลากระรอก ปลาสาก เต่าทะเล และสัตว์ทะเลชนิดต่างๆน้อยใหญ่อีกมากมาย ที่ทะเลแถบพัทยาพึ่งควรมี
เกาะริ้น ในบางเวลายังเป็นสถานที่ฝึกซ้อมรบทางทะเล ของกองทัพเรือ เมื่อนักดำน้ำมาลงดำที่นี่ จึงไม่ยอมพลาดจะเอ่ยปากกล่าวถึง ลูกปืนใหญ่เรือรบที่ทหารใช้ยิงฝึกซ้อม และเมื่อยิงมาตกแล้วยังไม่ระเบิดแตก ก็ยังคงตกค้างวางอยู่กับพื้นใต้ทะเล ทำให้เป็นที่หวาดเสียวบวกกับความสนุกสนาน ความตื่นเต้นของนักดำน้ำที่ได้ดูได้ชม ลูกปืนใหญ่ใต้ทะเลเหล่านั้น
ระดับความลึก 15 - 22 เมตร
หินยักกระโดง(หินต้นไม้) เป็นกองหินโผล่พ้นน้ำขึ้นมาตั้งอยู่ด้านทิศใต้ของเกาะริ้น เป็นแหล่งดำน้ำอีกแห่งหนึ่ง ที่นักดำน้ำพากันมาลงดำน้ำเสมอๆ ยามเมื่อได้มาออกทริปดำน้ำที่เกาะริ้น หินยักกระโดงยังเป็นพื้นที่ทหารเรือ ใช้เป็นเป้าซ้อมยิงปืนใหญ่เรือรบ จึงทำให้ใต้น้ำรอบกองหิน มีเศษลูกปืนใหญ่ตกอยู่ทั่วไป สำหรับความสมบูรณ์ของใต้น้ำรอบหินยักกระโดง ก็คงจะไม่แตกต่างอะไรไปจากเกาะริ้น เพราะเป็นบริเวณพื้นทีใกล้ชิดกัน
ระดับความลึก 15-22 เมตร
หินลอมฟาง(หินขาว) ตั้งอยู่ด้านทิศเหนือของเกาะริ้น ที่นี่เป็นอีกหนึ่งในแหล่งดำน้ำ ทริปออกเรือมาดำน้ำที่เกาะริ้น ส่วนมากเรือจะพานักดำน้ำมาแวะลงดำน้ำในไดฟ์สุดท้าย ก่อนแล่นกลับเข้าฝั่งในช่วงเวลาเย็น หินลอมฟางจะมีแนวปะการังโดยรอบกองหิน มีหนาแน่นมากทางด้านทิศตะวันออก ทั้งแนวจากเหนือจดใต้ ส่วนทางด้านทิศตะวันตก ก็พอมีปะการังบ้างแต่คงไม่มากเท่าอีกด้าน การดำน้ำที่หินลอมฟาง นักดำน้ำจะว่ายดำน้ำลัดเลาะแนวกองหิน ทางด้านทิศตะวันออกไปเรื่อยๆ สัตว์ทะเลบริเวณหินลอมฟาง ก็เหมือนหรือไม่แตกต่างจากเกาะริ้นและหินยักกระโดง
ระดับความลึก 15 - 20 เมตร
เรือหลวงคราม ( HTMS Khram Wreck ) เป็นแหล่งดำน้ำดูเรือจมชื่อดังที่พัทยา โดยเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2546 เมืองพัทยาได้ร่วมกับกองทัพเรือ นำเรือหลวงครามซึ่งเป็นเรือรบยกพลขนาดกลาง เคยประจำการรับใช้ชาติมานาน และเมื่อปลดระวางแล้ว จึงนำมาจมไว้เป็นอุทยานใต้ทะเลที่บริเวณเกาะไผ่ เพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ และเป็นการช่วยอนุรักษ์พันธ์สัตว์น้ำในทะเล ปัจจุบันเรือหลวงครามซึ่งได้ถูกจมลงบริเวณดังกล่าว ได้เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเลนานาชนิด เช่น ปะการังอ่อน ฟองน้ำ เต่าทะเล ฝูงปลาสาก ปลาหูช้าง ปลากระเบน และสัตว์ทะเลอีกหลายหลากชนิดมากมาย
การดำน้ำที่แหล่งเรือจมหลวงคราม จะเป็นการลงดำน้ำของนักดำน้ำผู้มีความชำนาญแล้ว หรือไม่ก็จะเป็นนักดำน้ำผู้อยู่ในระหว่างการเรียน ระดับแอดวานซ์โอเพนท์วอเตอร์ไดฟ์เวอร์ ( Advanced Open Water Diver ) ซึ่งจะมีหลักสูตรการดำน้ำเรือจม บรรจุอยู่ในหลักสูตร ของการเรียนการสอนระดับนี้ด้วย
ระดับความลึก 30 เมตร
เรือหลวงกูด ( HTMS Kood Wreck ) เหตุผลการจมเรือหลวงกูดใต้ทะเลที่พัทยา ก็แทบจะไม่แตกต่างไปจากการจมเรือหลวงคราม ทั้งสองลำยังเป็นเรือรบยกพล ประเภทเดียวกันอีกด้วย และมาจากอู่ต่อเรือเดียวกันที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ในครั้งนี้ก็เป็นการร่วมกัน ระหว่างเมืองพัทยากับกองทัพเรือ นำเรือหลวงกูดมาจมลงใต้ทะเลในพื้นที่ใกล้เกาะสาก เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2549 ปัจจุบันเมื่อวันเวลาผ่านมา เรือหลวงกูดก็มีสัตว์ทะเลหลายหลากชนิด มาอาศัยอยู่มากมาย จึงทำให้ที่นี่ก็เป็นอีกหนึ่งแห่ง ในแหล่งดำน้ำดูเรือจมชื่อดังของพัทยาเช่นกัน
ระดับความลึก 30 เมตร
เรือหลวงมัตโพน ( HTMS Mattapon Wreck ) กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ร่วมมือกับกองทัพเรือ และเมืองพัทยา ได้ดำเนินการจมเรือหลวงมัตโพน เพื่อเป็นการอนุรักษ์และฟื้นฟูแหล่งทรัพยากรทางทะเล และเป็นบ้านหลังใหม่ให้กับสัตว์ใต้ท้องทะเล ในโครงการเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ์ สยามมกุฎราชกุมาร ณ บริเวณด้านทิศตะวันออก เกาะล้าน ต.นาเกลือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี
เรือหลวงมัตโพนได้ถูกจมลงใต้น้ำเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2555 โดยไม่ห่างไกลจากหาดนวลของเกาะล้านมากนัก และบริเวณพื้นที่นั้นมีระดับความลึกของน้ำไม่มาก ทำให้แหล่งดำน้ำดูเรือจมแห่งนี้จึงเหมาะสำหรับนักดำน้ำทั้งมือเก่าและมือใหม่
ระดับความลึก 18 - 22 เมตร
สนใจออกทริปดำน้ำพัทยา ติดต่อ คุณสมบัติ(ตุ๋น) สอนอาจ : เบอร์โทร 085 128 9935
Ban's Diving Pattaya ท่าเรือแหลมบาลีฮาย พัทยาใต้ เมืองพัทยา email : thunsung@gmail.com
<<< กลับหน้าแรก |